เปิดแนวคิดการลงทุน 'ทรัพย์ศรีไทย' พลิกโฉมคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ มุ่งสู่ 'ธุรกิจอาหาร' ตั้งเป้ารายได้เติบโตก้าวกระโดด ด้วย 5 กฎการลงทุนที่เลียบเคียง 'เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์' ของวอร์เรน บัฟเฟตต์
บมจ.ทรัพย์ศรีไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปลายปี 2519 ประกอบกิจการประเภทคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 เดิมเป็นบริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ ต่อมาประมาณปลายปี 2548 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขายหุ้นทั้งหมด 78.29% แบ่งขายให้ กลุ่มศุภสิทธิ์ สุขะนินทร์ ซึ่งเป็นหลานชายตระกูลชินธรรมมิตร์ เจ้าของบมจ.น้ำตาลขอนแก่น และ กมล เอี้ยวศิวิกูล เจ้าของไมด้า แอสเซ็ท
หลังจากนั้นไม่ถึงปี กมลต้องการสภาพคล่องจึงขายหุ้นคืนทั้งหมด ทำให้กลุ่มศุภสิทธิ์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ประมาณ 80% โดยศุภสิทธิ์ มีบทบาทเป็นประธานกรรมการบริหาร และเชิญ แก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง มาเป็นประธานกรรมการบริษัท แต่การที่ ศุภสิทธิ์ เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่มีอายุเพียง 35 ปี เขาเริ่มมองหาแนวทางขยายการลงทุนเพราะธุรกิจเดิมมีการแข่งขันสูงและขยายธุรกิจต่อไปได้ยาก
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ทรัพย์ศรีไทยเริ่มเปิดฉากเข้าไปซื้อกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด เพื่อซื้อสิทธิในเครื่องหมายการค้า “น้ำมันพืชทิพ” ของ หม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา มูลค่าการลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2553 ก็ขายทรัพย์สินส่วนใหญ่ของบริษัท ที่ดิน 9 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา และโกดังเอกสาร 9 หลัง รวมพื้นที่ 15,340 ตารางเมตร มูลค่า 675 ล้านบาท ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ทรัพย์ศรีไทย โดยบริษัทถือหุ้น 33.33% แล้วทรัพย์ศรีไทย เช่าทรัพย์สินจากกองทุนมาบริหารต่อมีระยะเวลา 10 ปี และต่ออายุสัญญาได้อีกคราวละ 10 ปี โดยปีที่ 1-2 จ่ายค่าเช่าปีละ 51.25 ล้านบาท ปีที่ 3-5 ค่าเช่าปีละ 53 ล้านบาท ปีที่ 6-10 ค่าเช่าปีละ 48 ล้านบาท บวกส่วนแบ่งกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 48 ล้านบาท
จนล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทรัพย์ศรีไทย ช็อค!วงการอาหารเครื่องดื่ม ประกาศเข้าซื้อกิจการร้านเบเกอรี่ Au Bon Pain 43 สาขา และ Dunkin’ Donuts จำนวน 201 สาขาในประเทศไทยทั้งหมด จาก กลุ่มวารินทร์ นฤหล้า ใช้เงินลงทุนกว่า 1,320 ล้านบาท โดยจะเริ่มเข้าบริหารงานภายในเดือนมกราคม 2555 ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นการพลิกโฉมธุรกิจครั้งสำคัญของธุรกิจคลังสินค้าเก่าแก่ของไทย ซึ่งผู้บริหารประเมินรายได้จะมีอัตราการเติบโตเป็นเท่าตัวแตะระดับ 2,000 ล้านบาท ภายใน "ปีเดียว"
เส้นทางธุรกิจใหม่ในรอบ 35 ปี กำลังทำให้ทรัพย์ศรีไทยเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไม่มีวันกลับ บริษัทแห่งนี้กำลังพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนหรือ "โฮลดิ้ง คัมปานี" โดยมีตระกูลชินธรรมมิตร์ เจ้าของโรงน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี เป็นแบ็กอัพเบื้องหลัง ดูไปแล้วทรัพย์ศรีไทยกำลังเลียบเคียงแนวคิดการเติบโตของ "เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์" บริษัทของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บนความคาดหวังเรื่องมูลค่ากิจการที่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงสำคัญคือการกู้เงินมาลงทุนจนบริษัทต้องแบกรับภาระหนี้กว่า 1,000 ล้านบาท ในขณะที่ทรัพย์ศรีไทยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพียง 121 ล้านบาท เท่านั้น
ปิลัญชัย ประดับพงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทรัพย์ศรีไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า อย่าเปรียบเทียบเรา (ทรัพย์ศรีไทย) กับ เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์ เลย นั่นเขามืออาชีพแล้ว แค่เราดูเขาเป็นแบบอย่างและกระจายการลงทุนธุรกิจให้หลากหลายเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวในลักษณะของบริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุน
เบื้องหลังของดีลช็อค!วงการอาหารเครื่องดื่ม ปิลัญชัย เล่าว่า ทรัพย์ศรีไทยได้เตรียมปรับแผนธุรกิจมาเป็น โฮลดิ้ง คัมปานี ตั้งแต่ก่อนซื้อเข้าไปซื้อกิจการบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืชทิพ เมื่อ 2-3 ปีก่อนแล้ว สาเหตุเพราะธุรกิจเดิมให้บริการคลังสินค้าแม้จะมีมาร์จินสูงและกำไรมั่นคง แต่ธุรกิจนี้มีฐานรายได้ต่ำเพียงปีละ 150-300 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ปีละหลัก "สิบล้านบาท" เท่านั้น บอร์ดจึงตัดสินใจลงทุนธุรกิจอื่นเพื่อให้มีการเติบโตมากกว่านี้ ซึ่งจากนี้ไปทรัพย์ศรีไทยจะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนเต็มตัว ส่วนจะไปอยู่หมวดไหนก็แล้วแต่ทางตลาดหลักทรัพย์จะจัดให้
เขากล่าวถึงหลักการลงทุน 5 ประการ ที่ใช้สำหรับเลือกกิจการที่จะเข้าไปลงทุน ข้อที่ 1. กิจการนั้นต้องให้ผลตอบแทนระยะยาว ข้อที่ 2. ให้ผลตอบแทนทางการเงินที่ดี โดยต้องมี ROI (ผลตอบแทนจากการลงทุนต่อปี) ในระดับ "เลขสองหลัก" หรือดู IRR ซึ่งเป็นผลตอบแทนเทียบกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต้องคุ้มค่า ข้อที่ 3. ธุรกิจนั้นต้องมีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้ ข้อที่ 4. มูลค่าบริษัทหรือ Book Value จะต้องเพิ่มขึ้นในอนาคต ข้อที่ 5. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารชุดเดิม
“ที่สำคัญเรามุ่งเน้นเรื่องการกระจายความเสี่ยง ธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้มาก และสามารถที่จะ Synergy กับธุรกิจของทรัพย์ศรีไทยในเรื่องของคลังสินค้าและจุดกระจายสินค้ารวมไปถึงระบบโลจิสติกส์ได้ด้วย ซึ่งแน่นอนเราจะลงทุนระยะยาว"
เขายกตัวอย่างธุรกิจคลังสินค้าจะมีมาร์จินมากที่สุดที่ 50% และมีความมั่นคงสูงเหมือนกับปล่อยอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะนำไปบาลานซ์กับธุรกิจฟาสต์ฟู้ดซึ่งมีมาร์จินหักค่าเช่าแล้วอยู่ที่ 30% แต่สามารถผลิตกระแสเงินสดได้ดีทำให้บริษัทลดการกู้เงินระยะสั้นไปได้ ส่วนธุรกิจน้ำมันพืชมีมาร์จินต่ำที่สุดไม่ถึง 10% แต่ให้ประโยชน์ในแง่ของวอลุ่มขาย ในแง่ธุรกิจเรายังสามารถใช้ระบบคลังสินค้า จุดกระจายสินค้ารวมไปถึงระบบโลจิสติกส์ได้ด้วย
“ในแต่ละธุรกิจเราพยายามจะเทียบเคียงกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่นที่เราไปซื้อดังกิ้นโดนัทกับโอปองแปง เราก็จะขอเปรียบเทียบกับไมเนอร์กรุ๊ป”
ปิลัญชัย ยังกล่าวถึงธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมจะยังคงดำเนินต่อไป ปัจจุบันมี 4 แห่งมีอัตราการเช่า 90% แต่ยอมรับว่าการเติบโตไม่ค่อยมียกเว้นคลังเก็บเอกสารซึ่งปกติจะโต 15-20% ตอนนี้เราก็มีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทรัพย์ศรีไทยซึ่งให้ผลตอบแทน 7-8% ธุรกิจนี้คงไม่มีอะไรหวือหวา
ส่วนธุรกิจน้ำมันพืช เนื่องจากเดิม บริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด มีผลขาดทุนและอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้บริษัทใช้เงินเพียง 200 ล้านบาท ในการเข้าซื้อและเป็นผู้ถือหุ้น 99% ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อได้รับการใส่เงินทุนเข้าไปแล้วน้ำมันพืชทิพจะสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดได้ ขณะนี้มีมาร์เก็ตแชร์ 10% อยู่อันดับ 3 รองจากตราองุ่น และยี่ห้อกุ๊ก แต่บริษัทคงไม่ลงทุนเยอะอีกแล้วแค่หลักสิบล้านบาท
เขาบอกว่า วัตถุประสงค์อีกอย่างที่ไปซื้อกิจการน้ำมันพืชทิพ เพราะมองถึง Hidden Asset (สินทรัพย์ที่ซ่อนอยู่) บริษัทนี้มีที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนติวานนท์ ปากเกร็ด เนื้อที่ 83 ไร่ ซึ่งอนาคตราคาน่าจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แถมยังสามารถทำงานร่วมกับคลังสินค้าหนึ่งแห่งของเราซึ่งอยู่ตรงข้ามกันได้
“บอร์ดชุดเดิมของอุตสาหกรรมวิวัฒน์เป็นชาวต่างชาติทั้งหมดซึ่งอาจจต้องลาออกทั้งหมดแต่ทีมผู้บริหารเดิมเราจะยังเก็บไว้ เชื่อว่าแบรนด์น้ำมันพืชทิพน่าจะกลับมาเป็นผู้นำในตลาดได้อีกครั้งหลังจากนี้”
ส่วนธุรกิจฟาสต์ฟู้ดของ Au Bon Pain และ Dunkin’ Donuts สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการเพราะเป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง ปิลัญชัย บอกว่า อย่างดังกิ้นโดนัทอยู่ในประเทศไทยมา 31 ปี มีผลกำไรเติบโตทุกปี สถิติที่ไม่ค่อยมีคนรู้คือดังกิ้นโดนัทในไทยมีหน้าร้าน 201 สาขา ยอดขายติดอันดับ 4 ของโลก โดยมี 132 สาขาอยู่ในต่างจังหวัด มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดโดนัทใกล้เคียงกับมิสเตอร์ โดนัท (ของเซ็นทรัล) ส่วนโอปองแปงในประเทศไทยก็มียอดขายสูงอันดับ 1 ของโลกมีทั้งหมด 43 สาขา โดย 38 สาขาตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร
เขาให้ข้อมูลว่า ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทย 5 ปีย้อนหลังมีการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี แฟรนไชส์ดังๆ อย่างแมคโดนัลด์, เคเอฟซี มีผลกำไรดีทุกปี ในแง่อายุสัญญาของ Au Bon Pain มีทั้งหมด 28 ปี ยังเหลืออยู่ 15 ปี ส่วนดังกิ้นโดนัทไม่มีอายุสัญญาตราบใดที่ยังมีกำไร โดยบริษัทได้ติดต่อเจ้าของแฟรนไชส์ที่อเมริกาเรื่องต่อสัญญาไว้เหมือนกัน ส่วนบอร์ดบริหารซึ่งเป็นต่างชาติคงเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่เราจะยังคงผู้บริหารชุดเดิมไว้ทั้งหมด
“Au Bon Pain และ Dunkin’ Donuts จะสร้างรายได้ให้เราทันทีในปีหน้า 1,000 ล้านบาท แผนระยะยาว 10 ปีเราจะสร้างยอดขายให้แตะระดับ 3,000 ล้านบาท ขยายร้านโตเป็น 2 เท่า ขณะที่อัตราการทำกำไรของแต่ละสาขาจะต้องเติบโตมากกว่า 3 เท่า โดยเงินลงทุนแต่ละสาขามีตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท”
สำหรับสถานะการเงินหลังซื้อกิจการ เขาบอกว่าบริษัทจะมีหนี้สินทั้งหมด 1,000 ล้านบาท หนี้สินต่อทุนจะอยู่ที่ 2 เท่า บริษัทไม่มีความคิดที่จะเพิ่มทุนเพื่อเข้ามาลดหนี้ขอให้เป็นตัวเลือกสุดท้ายเพราะไม่อยากรบกวนผู้ถือหุ้น ส่วนเรื่องเงินปันผล ยังไม่บอกชัดเจนว่าจะจ่ายน้อยลง เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะจ่ายเท่าไรต่อปี แต่ความเหมาะสมคงต้องหาทางลดหนี้ไปก่อน เป็นไปได้ว่าอาจจะจ่ายปันผลรูปแบบอื่น แต่รับรองได้ว่ามูลค่าบริษัทจะเติบโตขึ้นมาทดแทน
ปิลัญชัย สรุปว่าสัดส่วนรายได้หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ รายได้จากน้ำมันพืชทิพจะอยู่ที่ 30-40% รายได้จากดังกิ้นโดนัทและโอปองแปง อยู่ที่ 50% และธุรกิจคลังสินค้า 10-15% และรายได้รวมปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 100% จากปีนี้ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาทแน่นอน โดยสัดส่วนรายได้ 60% จะมาจากธุรกิจอาหาร
“หลังจากปีหน้าเป็นต้นไป หรือระหว่างปี 2555-2558 ระดับรายได้ของเราน่าจะเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี โดยเราจะไม่หยุดการซื้อกิจการขอเพียงมีโอกาสที่ดีเข้ามา” ปิลัญชัย กล่าว
เส้นทางเดินของทรัพย์ศรีไทย กำลังทำให้บริษัทแห่งนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไม่มีวันกลับ จากบริษัท "อนุรักษ์นิยม" มีหนี้สินน้อย สู่บริษัทที่ "Aggressive" ท่ามกลางปัญหาหนี้สินที่เติบโตสูงเป็นเงาตามตัว
หนังสือ "50 กลยุทธ์รวยหุ้น ไม่เสี่ยง" หนังสือสำหรับมือใหม่หัดเล่นหุ้น.. โดยนายแว่นธรรมดา..
แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับ..
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada