Popular Posts

Tuesday, February 14, 2012

การคำนวนราคาพื้นฐานของหุ้น

รบกวนสอบถามคุณแว่นธรรมดา

พอดีผมเคยอ่านเจอของอ.นิเวศน์บอกว่าราคาของหุ้นที่ควรซื้อควรจะต่ำกว่าจำนวนของสินทรัพย์หมุนเวียน ลบด้วยหนี้สินทั้งหมด แต่ผมยังหาหุ้นที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไม่มีเลย T_T ก็เลยสงสัยว่าจริงๆ แล้วควรจะเป็นยังไง แล้วราคาหุ้นที่ควรจะเป็นจะมีสูตรการหาราคาที่ควรจะเป็นยังไงเพื่อให้มี safety margin นอกจากการดูจากค่า PE และ P/bv บอกตรงๆ เม่ามือใหม่งงมาก

ตอบ

สวัสดีครับผมลองทำตามสูตรที่ให้มานะครับ ผมลองเอาหุ้น CPF มาคำนวนดูครับ..


CPF

มีสินทรัพย์หมุนเวียน = 61,277 ล้านบาท

มีหนี้สินรวม = 76,548 ล้านบาท

มีจำนวนหุ้น = 7,048 ล้านหุ้น

ดังนั้นมูลค่าที่ควรจะเป็น = (76,548 - 61277) / 7,048 = 2.16 บาทต่อหุ้น

ผมเข้าใจว่าราคาที่คำนวนออกมานี้ใกล้เคียงกับการหาราคาซากของหุ้นครับ เพราะการประเมินจะประเมินราคาที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหาสภาพคล่อง คือสินทรัพย์หมุนเวียนไม่พอจ่ายหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งเป็นการจ่ายเฉพาะหน้าหากเกิดปัญหาสภาพคล่องขึ้นมาจริงๆ ถ้าเราสามารถซื้อในราคานี้ได้ถือว่าเราโชคดีสุดๆ ถ้าอยากจะซื้อราคานี้จริงๆ คงต้องรอให้เกิดวิกฤตใหญ่ๆ เหมือนครั้งต้มยำกุ้ง หรือแฮมเบอร์เกอร์ล่ะครับ
ยังมีราคาอีกประเภทหนึ่งคือราคาตลาดครับ ราคาตลาดอาจเป็นราคาที่บวกเอาความต้องการของนักลงทุนในตลาดลงไปด้วย และอาจบวกกับแบรนด์เนม หรือชื่อเสียงของบริษัทเข้าไปทำให้มูลค่าของบริษัทสูงขึ้นกว่าราคาที่คำนวนไว้ครับ ความนิยมของบริษัททั้งหลายเราอาจดูได้จากค่าพีอี ถ้าพีอีสูงแสดงว่ามีคนมาสนใจหุ้นตัวนี้มาก ทำให้เราต้องซื้อหุ้นในราคาที่แพงครับ เหมือนซื้อของแบรนด์เนมราคาก็ต้องสูงเป็นธรรมดาครับผม


หวังว่าคงพอจะช่วยเหลือได้บ้างนะครับ ถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมก็สอบถามมาได้ครับ ขอบคุณครับ

(นายแว่นธรรมดา)

แวะทักทาย www.naiwaen.com วิเคราะห์หุ้น จับจังหวะการลงทุน การวัดมูลค่าหุ้นไม่ยาก สไตล์นายแว่นธรรมดา

แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada

ตกแต่งบ้าน และสวนสวย Home Decor Garden

http://homebuyerguides.blogspot.com/

หนังสือ "รวยหุ้นแบบ VI ไม่เสี่ยง" สำหรับมือใหม่อยากเล่นหุ้นแนว VI ไม่เสี่ยง โดยนายแว่นธรรมดา..






วางแผงแล้วในร้าน ซีเอ็ด นายอินทร์ และ บีทูเอส ทุกสาขา ขอบคุณที่อุดหนุนนะครับ.

Sunday, February 12, 2012

'ทรัพย์ศรีไทย' เดินตามรอย 'เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์' โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

เปิดแนวคิดการลงทุน 'ทรัพย์ศรีไทย' พลิกโฉมคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ มุ่งสู่ 'ธุรกิจอาหาร' ตั้งเป้ารายได้เติบโตก้าวกระโดด ด้วย 5 กฎการลงทุนที่เลียบเคียง 'เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์' ของวอร์เรน บัฟเฟตต์


บมจ.ทรัพย์ศรีไทย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปลายปี 2519 ประกอบกิจการประเภทคลังสินค้าและท่าเทียบเรือ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2537 เดิมเป็นบริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์ ต่อมาประมาณปลายปี 2548 ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ขายหุ้นทั้งหมด 78.29% แบ่งขายให้ กลุ่มศุภสิทธิ์ สุขะนินทร์ ซึ่งเป็นหลานชายตระกูลชินธรรมมิตร์ เจ้าของบมจ.น้ำตาลขอนแก่น และ กมล เอี้ยวศิวิกูล เจ้าของไมด้า แอสเซ็ท

หลังจากนั้นไม่ถึงปี กมลต้องการสภาพคล่องจึงขายหุ้นคืนทั้งหมด ทำให้กลุ่มศุภสิทธิ์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ประมาณ 80% โดยศุภสิทธิ์ มีบทบาทเป็นประธานกรรมการบริหาร และเชิญ แก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวัง มาเป็นประธานกรรมการบริษัท แต่การที่ ศุภสิทธิ์ เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่มีอายุเพียง 35 ปี เขาเริ่มมองหาแนวทางขยายการลงทุนเพราะธุรกิจเดิมมีการแข่งขันสูงและขยายธุรกิจต่อไปได้ยาก

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ทรัพย์ศรีไทยเริ่มเปิดฉากเข้าไปซื้อกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด เพื่อซื้อสิทธิในเครื่องหมายการค้า “น้ำมันพืชทิพ” ของ หม่อมอรพินทร์ ดิศกุล ณ อยุธยา มูลค่าการลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2553 ก็ขายทรัพย์สินส่วนใหญ่ของบริษัท ที่ดิน 9 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา และโกดังเอกสาร 9 หลัง รวมพื้นที่ 15,340 ตารางเมตร มูลค่า 675 ล้านบาท ให้แก่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แบบมีกรรมสิทธิ์ทรัพย์ศรีไทย โดยบริษัทถือหุ้น 33.33% แล้วทรัพย์ศรีไทย เช่าทรัพย์สินจากกองทุนมาบริหารต่อมีระยะเวลา 10 ปี และต่ออายุสัญญาได้อีกคราวละ 10 ปี โดยปีที่ 1-2 จ่ายค่าเช่าปีละ 51.25 ล้านบาท ปีที่ 3-5 ค่าเช่าปีละ 53 ล้านบาท ปีที่ 6-10 ค่าเช่าปีละ 48 ล้านบาท บวกส่วนแบ่งกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 48 ล้านบาท

จนล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทรัพย์ศรีไทย ช็อค!วงการอาหารเครื่องดื่ม ประกาศเข้าซื้อกิจการร้านเบเกอรี่ Au Bon Pain 43 สาขา และ Dunkin’ Donuts จำนวน 201 สาขาในประเทศไทยทั้งหมด จาก กลุ่มวารินทร์ นฤหล้า ใช้เงินลงทุนกว่า 1,320 ล้านบาท โดยจะเริ่มเข้าบริหารงานภายในเดือนมกราคม 2555 ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นการพลิกโฉมธุรกิจครั้งสำคัญของธุรกิจคลังสินค้าเก่าแก่ของไทย ซึ่งผู้บริหารประเมินรายได้จะมีอัตราการเติบโตเป็นเท่าตัวแตะระดับ 2,000 ล้านบาท ภายใน "ปีเดียว"

เส้นทางธุรกิจใหม่ในรอบ 35 ปี กำลังทำให้ทรัพย์ศรีไทยเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไม่มีวันกลับ บริษัทแห่งนี้กำลังพัฒนาตัวเองไปสู่การเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนหรือ "โฮลดิ้ง คัมปานี" โดยมีตระกูลชินธรรมมิตร์ เจ้าของโรงน้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี เป็นแบ็กอัพเบื้องหลัง ดูไปแล้วทรัพย์ศรีไทยกำลังเลียบเคียงแนวคิดการเติบโตของ "เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์" บริษัทของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ บนความคาดหวังเรื่องมูลค่ากิจการที่จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงสำคัญคือการกู้เงินมาลงทุนจนบริษัทต้องแบกรับภาระหนี้กว่า 1,000 ล้านบาท ในขณะที่ทรัพย์ศรีไทยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพียง 121 ล้านบาท เท่านั้น

ปิลัญชัย ประดับพงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร บมจ.ทรัพย์ศรีไทย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่า อย่าเปรียบเทียบเรา (ทรัพย์ศรีไทย) กับ เบิร์กไชร์ ฮาธะเวย์ เลย นั่นเขามืออาชีพแล้ว แค่เราดูเขาเป็นแบบอย่างและกระจายการลงทุนธุรกิจให้หลากหลายเพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาวในลักษณะของบริษัทโฮลดิ้งเพื่อการลงทุน

เบื้องหลังของดีลช็อค!วงการอาหารเครื่องดื่ม ปิลัญชัย เล่าว่า ทรัพย์ศรีไทยได้เตรียมปรับแผนธุรกิจมาเป็น โฮลดิ้ง คัมปานี ตั้งแต่ก่อนซื้อเข้าไปซื้อกิจการบริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืชทิพ เมื่อ 2-3 ปีก่อนแล้ว สาเหตุเพราะธุรกิจเดิมให้บริการคลังสินค้าแม้จะมีมาร์จินสูงและกำไรมั่นคง แต่ธุรกิจนี้มีฐานรายได้ต่ำเพียงปีละ 150-300 ล้านบาท กำไรสุทธิอยู่ที่ปีละหลัก "สิบล้านบาท" เท่านั้น บอร์ดจึงตัดสินใจลงทุนธุรกิจอื่นเพื่อให้มีการเติบโตมากกว่านี้ ซึ่งจากนี้ไปทรัพย์ศรีไทยจะเป็นบริษัทเพื่อการลงทุนเต็มตัว ส่วนจะไปอยู่หมวดไหนก็แล้วแต่ทางตลาดหลักทรัพย์จะจัดให้

เขากล่าวถึงหลักการลงทุน 5 ประการ ที่ใช้สำหรับเลือกกิจการที่จะเข้าไปลงทุน ข้อที่ 1. กิจการนั้นต้องให้ผลตอบแทนระยะยาว ข้อที่ 2. ให้ผลตอบแทนทางการเงินที่ดี โดยต้องมี ROI (ผลตอบแทนจากการลงทุนต่อปี) ในระดับ "เลขสองหลัก" หรือดู IRR ซึ่งเป็นผลตอบแทนเทียบกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายต้องคุ้มค่า ข้อที่ 3. ธุรกิจนั้นต้องมีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันได้ ข้อที่ 4. มูลค่าบริษัทหรือ Book Value จะต้องเพิ่มขึ้นในอนาคต ข้อที่ 5. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารชุดเดิม

“ที่สำคัญเรามุ่งเน้นเรื่องการกระจายความเสี่ยง ธุรกิจที่สร้างกระแสเงินสดได้มาก และสามารถที่จะ Synergy กับธุรกิจของทรัพย์ศรีไทยในเรื่องของคลังสินค้าและจุดกระจายสินค้ารวมไปถึงระบบโลจิสติกส์ได้ด้วย ซึ่งแน่นอนเราจะลงทุนระยะยาว"

เขายกตัวอย่างธุรกิจคลังสินค้าจะมีมาร์จินมากที่สุดที่ 50% และมีความมั่นคงสูงเหมือนกับปล่อยอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าจะนำไปบาลานซ์กับธุรกิจฟาสต์ฟู้ดซึ่งมีมาร์จินหักค่าเช่าแล้วอยู่ที่ 30% แต่สามารถผลิตกระแสเงินสดได้ดีทำให้บริษัทลดการกู้เงินระยะสั้นไปได้ ส่วนธุรกิจน้ำมันพืชมีมาร์จินต่ำที่สุดไม่ถึง 10% แต่ให้ประโยชน์ในแง่ของวอลุ่มขาย ในแง่ธุรกิจเรายังสามารถใช้ระบบคลังสินค้า จุดกระจายสินค้ารวมไปถึงระบบโลจิสติกส์ได้ด้วย

“ในแต่ละธุรกิจเราพยายามจะเทียบเคียงกับบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่นที่เราไปซื้อดังกิ้นโดนัทกับโอปองแปง เราก็จะขอเปรียบเทียบกับไมเนอร์กรุ๊ป”

ปิลัญชัย ยังกล่าวถึงธุรกิจคลังสินค้าให้เช่าซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมจะยังคงดำเนินต่อไป ปัจจุบันมี 4 แห่งมีอัตราการเช่า 90% แต่ยอมรับว่าการเติบโตไม่ค่อยมียกเว้นคลังเก็บเอกสารซึ่งปกติจะโต 15-20% ตอนนี้เราก็มีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทรัพย์ศรีไทยซึ่งให้ผลตอบแทน 7-8% ธุรกิจนี้คงไม่มีอะไรหวือหวา

ส่วนธุรกิจน้ำมันพืช เนื่องจากเดิม บริษัท อุตสาหกรรมวิวัฒน์ จำกัด มีผลขาดทุนและอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ ทำให้บริษัทใช้เงินเพียง 200 ล้านบาท ในการเข้าซื้อและเป็นผู้ถือหุ้น 99% ส่วนตัวเชื่อว่าเมื่อได้รับการใส่เงินทุนเข้าไปแล้วน้ำมันพืชทิพจะสามารถกลับมาแข่งขันในตลาดได้ ขณะนี้มีมาร์เก็ตแชร์ 10% อยู่อันดับ 3 รองจากตราองุ่น และยี่ห้อกุ๊ก แต่บริษัทคงไม่ลงทุนเยอะอีกแล้วแค่หลักสิบล้านบาท

เขาบอกว่า วัตถุประสงค์อีกอย่างที่ไปซื้อกิจการน้ำมันพืชทิพ เพราะมองถึง Hidden Asset (สินทรัพย์ที่ซ่อนอยู่) บริษัทนี้มีที่ดินริมน้ำเจ้าพระยาบริเวณถนนติวานนท์ ปากเกร็ด เนื้อที่ 83 ไร่ ซึ่งอนาคตราคาน่าจะแพงขึ้นเรื่อยๆ แถมยังสามารถทำงานร่วมกับคลังสินค้าหนึ่งแห่งของเราซึ่งอยู่ตรงข้ามกันได้

“บอร์ดชุดเดิมของอุตสาหกรรมวิวัฒน์เป็นชาวต่างชาติทั้งหมดซึ่งอาจจต้องลาออกทั้งหมดแต่ทีมผู้บริหารเดิมเราจะยังเก็บไว้ เชื่อว่าแบรนด์น้ำมันพืชทิพน่าจะกลับมาเป็นผู้นำในตลาดได้อีกครั้งหลังจากนี้”

ส่วนธุรกิจฟาสต์ฟู้ดของ Au Bon Pain และ Dunkin’ Donuts สาเหตุที่ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการเพราะเป็นแบรนด์ที่มีความเข้มแข็ง ปิลัญชัย บอกว่า อย่างดังกิ้นโดนัทอยู่ในประเทศไทยมา 31 ปี มีผลกำไรเติบโตทุกปี สถิติที่ไม่ค่อยมีคนรู้คือดังกิ้นโดนัทในไทยมีหน้าร้าน 201 สาขา ยอดขายติดอันดับ 4 ของโลก โดยมี 132 สาขาอยู่ในต่างจังหวัด มีมาร์เก็ตแชร์ในตลาดโดนัทใกล้เคียงกับมิสเตอร์ โดนัท (ของเซ็นทรัล) ส่วนโอปองแปงในประเทศไทยก็มียอดขายสูงอันดับ 1 ของโลกมีทั้งหมด 43 สาขา โดย 38 สาขาตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

เขาให้ข้อมูลว่า ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทย 5 ปีย้อนหลังมีการเติบโตเฉลี่ย 8% ต่อปี แฟรนไชส์ดังๆ อย่างแมคโดนัลด์, เคเอฟซี มีผลกำไรดีทุกปี ในแง่อายุสัญญาของ Au Bon Pain มีทั้งหมด 28 ปี ยังเหลืออยู่ 15 ปี ส่วนดังกิ้นโดนัทไม่มีอายุสัญญาตราบใดที่ยังมีกำไร โดยบริษัทได้ติดต่อเจ้าของแฟรนไชส์ที่อเมริกาเรื่องต่อสัญญาไว้เหมือนกัน ส่วนบอร์ดบริหารซึ่งเป็นต่างชาติคงเปลี่ยนแปลงทั้งหมด แต่เราจะยังคงผู้บริหารชุดเดิมไว้ทั้งหมด

“Au Bon Pain และ Dunkin’ Donuts จะสร้างรายได้ให้เราทันทีในปีหน้า 1,000 ล้านบาท แผนระยะยาว 10 ปีเราจะสร้างยอดขายให้แตะระดับ 3,000 ล้านบาท ขยายร้านโตเป็น 2 เท่า ขณะที่อัตราการทำกำไรของแต่ละสาขาจะต้องเติบโตมากกว่า 3 เท่า โดยเงินลงทุนแต่ละสาขามีตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท”

สำหรับสถานะการเงินหลังซื้อกิจการ เขาบอกว่าบริษัทจะมีหนี้สินทั้งหมด 1,000 ล้านบาท หนี้สินต่อทุนจะอยู่ที่ 2 เท่า บริษัทไม่มีความคิดที่จะเพิ่มทุนเพื่อเข้ามาลดหนี้ขอให้เป็นตัวเลือกสุดท้ายเพราะไม่อยากรบกวนผู้ถือหุ้น ส่วนเรื่องเงินปันผล ยังไม่บอกชัดเจนว่าจะจ่ายน้อยลง เพราะที่ผ่านมาก็ไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะจ่ายเท่าไรต่อปี แต่ความเหมาะสมคงต้องหาทางลดหนี้ไปก่อน เป็นไปได้ว่าอาจจะจ่ายปันผลรูปแบบอื่น แต่รับรองได้ว่ามูลค่าบริษัทจะเติบโตขึ้นมาทดแทน

ปิลัญชัย สรุปว่าสัดส่วนรายได้หลังการปรับโครงสร้างธุรกิจ รายได้จากน้ำมันพืชทิพจะอยู่ที่ 30-40% รายได้จากดังกิ้นโดนัทและโอปองแปง อยู่ที่ 50% และธุรกิจคลังสินค้า 10-15% และรายได้รวมปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 100% จากปีนี้ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาทแน่นอน โดยสัดส่วนรายได้ 60% จะมาจากธุรกิจอาหาร

“หลังจากปีหน้าเป็นต้นไป หรือระหว่างปี 2555-2558 ระดับรายได้ของเราน่าจะเติบโตเฉลี่ย 9% ต่อปี โดยเราจะไม่หยุดการซื้อกิจการขอเพียงมีโอกาสที่ดีเข้ามา” ปิลัญชัย กล่าว

เส้นทางเดินของทรัพย์ศรีไทย กำลังทำให้บริษัทแห่งนี้เปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างไม่มีวันกลับ จากบริษัท "อนุรักษ์นิยม" มีหนี้สินน้อย สู่บริษัทที่ "Aggressive" ท่ามกลางปัญหาหนี้สินที่เติบโตสูงเป็นเงาตามตัว

หนังสือ "50 กลยุทธ์รวยหุ้น ไม่เสี่ยง" หนังสือสำหรับมือใหม่หัดเล่นหุ้น.. โดยนายแว่นธรรมดา..




แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับ..
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada

IRPC น่าซื้อหรือไม่?

IRPC

ซื้อตอนนี้ PE ค่อนข้างสูง แสดงว่ามีคนเริ่มสนใจเข้ามาซื้อๆ ขายๆ กันมากขึ้นครับ ผมลองคำนวนจากตัวเลขเท่าที่มีนะครับ สินค้าคงคลังของบริษัทที่เหลือ (Stock น้ำมัน และอื่นๆ) หากขายหมดจะได้กำไรประมาณ 0.09 บาทต่อหุ้น บวกกับ EPS เดิมจะได้ EPS ใหม่ประมาณ 0.4 บาทต่อหุ้น ผมให้ PE ในอนาคตเป็น 12 เท่า จะได้ราคาที่ควรจะเป็น 4.80 บาทต่อหุ้นครับ ซึ่งราคา ณ.ปัจจุบันก็สะท้อนพื้นฐานแล้วล่ะครับ

แต่ยังมีปัจจัยอื่นนั่นก็คือ ราคาตลาดครับ หากมีคนสนใจมาซื้อกันมากๆ ก็อาจจะทำให้ราคาขยับจากพื้นฐานได้อีกครับ ได้ข่าวว่า ปตท.จะซื้อหุ้นบางส่วน ไม่แน่ใจว่าข่าวไปถึงไหนแล้ว ถ้าอยากซื้อจริงๆ ตอนนี้ราคาประมาณ 4.80 บาท ได้ปันผล 3.75% ผมว่าก็โอเคนะครับ ทยอยซื้อสะสม เผื่อราคาน้ำมันขึ้นบริษัทอาจได้ส่วนต่างจากราคาน้ำมันก็จะทำให้กำไรสูงขึ้นได้ครับ ลองพิจารณาดูครับ

ความเสี่ยงจากการผันผวนของราคาวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ (จากแบบ 56-1)

วัตถุดิบหลักของกระบวนการผลิตของบริษัทฯ ทั้งในกลุ่มปิโตรเลียมและปิโตรเคมีคือ น้ำมันดิบ ซึ่งการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการผลิตของบริษัทฯ โดยในปี 2553 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 78 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ซึ่งราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 62 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบเคลื่อนไหวทรงตัวในไตรมาสแรกและปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสที่สอง สาเหตุเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ สิ้นสุดลง และปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปมีความรุนแรงขึ้น ก่อนที่จะปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่สามและสี่ตามทิศทางการอ่อนค่าลงของเงินเหรียญสหรัฐ โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่าที่คาดการณ์ไว้และสภาพอากาศที่หนาวเย็นในอเมริกาและยุโรป ประกอบกับเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหว น้ำมันรั่วในอ่าวแม็กซิโก หรือมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนอยู่อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่สำคัญระดับองค์กร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและผลประกอบการอย่างมีนัยสำคัญ


เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว โปรดพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ


(นายแว่นธรรมดา)

แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับ..
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada

ผลงานลำดับที่ 3 ของนายแว่นธรรมดา "เปลี่ยนตัวเองใหม่ ไม่ยาก" พักการลงทุนมาอ่านหนังสือสบายๆ คลายเครียด เพิ่มความร่ำรวยทางจิตใจ และ "ความสุข" กันนะครับ




วางแผงแล้วในร้าน ซีเอ็ด นายอินทร์ และ บีทูเอส ทุกสาขา ขอบคุณที่อุดหนุนนะครับ..

ต้อนรับวันแห่งความรัก "รักแท้ของวอร์เรน"

----- รักแท้ของวอร์เรน -----

โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช


ภรรยาคนแรกของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ คือ ซูซาน ธอมป์สัน บัฟเฟตต์ หรือ “ซูซี่” เธอเป็นสุภาพสตรีคนเดียวที่วอร์เรนรักและนับถือ เป็นผู้หญิงที่เปรียบเสมือนทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขา ซูซี่ เสียชีวิตลงในปี 2004 ขณะอายุได้ 72 ปี ซึ่งทำให้วอร์เรนเศร้าโศกเสียใจมาก

ทุกวันนี้ แม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปี เมื่อใดก็ตามที่มีคนถามถึงอดีตภรรยาผู้เป็นที่รัก เขาจะร้องไห้ทุกครั้ง วอร์เรนบอกว่าการตายของเธอเป็นสิ่งที่ย่ำแย่ที่สุดในชีวิตของเขา เป็นเหตุการณ์ที่เขาไม่มีวันลืมได้ลง

ซูซี่รู้จักกับวอร์เรนในปี 1950 โดยเธอเป็นเพื่อนร่วมห้องสมัยเรียนมหาวิทยาลัยของเบอร์ตี้ น้องสาวของวอร์เรน ก่อนที่ทั้งคู่จะพบรักและแต่งงานกันสองปีหลังจากนั้น

อย่างที่ได้บอกแล้วว่า วอร์เรนเป็นคนเนิร์ดๆ เป็นผู้ชายที่สนใจแต่เรื่องการลงทุน ชอบแต่เรื่องของตัวเลข ไม่ค่อยดูแลตัวเอง จนเมื่อซูซี่ก้าวเข้ามาในชีวิต เธอได้จัดการทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเขา ทั้งเรื่องการแต่งตัว เรื่องบ้าน และเลี้ยงลูกทั้งสามคน คือ ซูซี่จูเนียร์ โฮเวิร์ด และปีเตอร์ จนเติบโตขึ้นมาเป็นคนดี

แม้แต่ “เลล่า” แม่ของวอร์เรน ซึ่งเป็นคนอารมณ์ร้าย ก็ถูกซูซี่จัดการเสียอยู่หมัด ทำให้วอร์เรนมุ่งเน้นความสนใจของเขาไปในการ “การลงทุน” ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียสมาธิกับสิ่งรบกวนรอบตัว สุดท้ายเขาก็ประสบความสำเร็จ สร้างความมั่งคั่งได้มากมายมหาศาล

วอร์เรนบอกว่า “ซูซี่ทำให้ชีวิตผมเข้าที่เข้าทาง”


ปัญหาก็คือ โลกของวอร์เรนกับซูซี่จะเป็นคนละโลกกัน ซูซี่เป็นคนชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ช่วยเหลือสังคม เป็นนักสิทธิมนุษยชนตัวยงคนหนึ่ง ชอบศึกษาประวัติศาสตร์และสนใจศิลปะอย่างลึกซึ้ง ส่วนวอร์เรนไม่ทำอย่างอื่นเลย นอกจากนั่งอยู่ในห้องที่บ้าน และ “หาหุ้น” อย่างเดียวเท่านั้น

แม้ซูซี่จะพยายามเปิดโลกใหม่ๆ ให้กับสามี โดยบอกวอร์เรนว่า “ในโลกนี้มีอะไรให้ทำอีกเยอะแยะ ไม่ใช่แค่นั่งหาเงินอยู่ในห้อง” แต่ก็ดูเหมือนจะเปลี่ยนเขาได้ยาก จนทั้งสองเริ่มจะ “จูน” กันไม่ติด เพราะต่างคนต่างมีความปรารถนาของตัวเอง มีโลกที่ต้องแสวงหา

ด้วยความแตกต่างกันอย่างมากนี้ ทำให้ในที่สุด ซูซี่จำต้องขอแยกทางเดินกับวอร์เรน และนั่นเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาสาหัสในชีวิตของเขา อย่างไรก็ตาม ทั้งสองยังคงเป็นเพื่อนที่ดี มีความห่วงใย ให้กัน

ที่น่าแปลกคือ เชื่อไหมครับว่าก่อนจะหย่าร้างกัน ซูซี่ถึงขนาดพา “เอสทริด เมิงส์” เพื่อนของเธอมาแนะนำให้วอร์เรนรู้จัก โดยขอให้เอสทริดอยู่ร่วมชายคา ทำหน้าที่เสมือนภรรยาคนใหม่ ช่วยดูแลอดีตสามีแทนเธอด้วย ซึ่งเป็นการกระทำที่หลายคนมองว่า “ใจกว้าง” จนไม่น่าเชื่อ และทั้งสามก็ยังคงติดต่อกันด้วยความรักและผูกพันตลอดมา

แต่แล้ว เหมือนโชคชะตาฟ้ากลั่นแกล้ง ในปี 2003 ซูซี่ถูกตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในช่องปาก และป่วยหนักอยู่หนึ่งปีเต็ม ก่อนจะเสียชีวิตลงเมื่อปี 2004 โดยวอร์เรนดูแลเธออยู่ข้างเตียงแทบจะทุกนาที ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

เรื่องราวความรักของวอร์เรนและซูซี่ ทำให้ผมนึกถึงคำพูดที่ว่า “เบื้องหลังผู้ชายที่ยิ่งใหญ่ มีผู้หญิงที่ยิ่งใหญ่” อันเป็นคำกล่าวที่เป็นความจริงอยู่เสมอ

วอร์เรน บอกว่า เขาจะไม่มีวันมีทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในวันนี้ ถ้าไม่มีซูซี่ ความรักของทั้งคู่ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ใช่เส้นทางที่ราบเรียบ ทั้งคู่สร้างครอบครัวขึ้นมาจากความ “แตกต่าง” อย่างสุดขั้ว แม้ในที่สุดจะต้องแยกทางกันเดิน แต่พวกเขาก็ยังคง “รัก” กัน

จะมีผู้ชายคนไหนเล่า ที่แม้จะมีเงินล้นฟ้า แต่ยังคิดถึงภรรยาเก่าทุกเช้าค่ำเป็นเวลาหลายสิบปี แม้เธอตายไปแล้วก็ยังน้ำตานองหน้าทุกครั้งเมื่อมีใครถามถึง 

จะมีผู้หญิงคนไหนเล่า ที่เป็นคนขอแยกทางกับสามีผู้เป็นอภิมหาเศรษฐี แต่กลับอุตส่าห์หาผู้หญิงคนใหม่มาดูแลเขา เพราะกลัวเขาจะลำบาก โดยไม่ห่วงเลยว่าทรัพย์สินมหาศาลของผู้เป็นสามีจะถูกแบ่งสรรปันส่วนไป

ชีวิตรักของวอร์เรนและซูซี่ ไม่ได้สวยงามเพียบพร้อมดุจนิยาย แต่เป็นความรักที่แท้จริง ประจักษ์แก่สายตา ไม่ต้องสร้างภาพ ความรักอาจเกิดขึ้นได้เสมอ แต่มันจะเติบโตขึ้นได้ ย่อมต้องผ่านการเดินทางร่วมกัน ต่อสู้ฝ่าฟันผ่านพ้นสิ่งต่างๆ ด้วยกันตามกาลเวลา

ตรงกันข้ามกับความรักที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับ “เงิน” ย่อมพร้อมจะหายไปพร้อมๆ กับ “เงิน” เช่นเดียวกัน

เรื่องของปู่บัฟฟ์นี่ ไม่ใช่เฉพาะการลงทุน แม้แต่ความรักก็ยังน่าศึกษา น่านับถือ และสมควรเอาเป็นแบบอย่างจริงๆ ครับ

-------------------------------------------------------

เครดิต http://www.clubvi.com/2012/02/04/warrenslove/

แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับ..
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada

หนังสือ "รวยหุ้นแบบ VI ไม่เสี่ยง" สำหรับมือใหม่อยากเล่นหุ้นแนว VI ไม่เสี่ยง โดยนายแว่นธรรมดา..












วางแผงแล้วในร้าน ซีเอ็ด นายอินทร์ และ บีทูเอส ทุกสาขา ขอบคุณที่อุดหนุนนะครับ..

Friday, February 10, 2012

ข้อคิดเห็นหุ้น KSL

KSL












KSL
บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อย ภายใต้กลุ่ม เค เอส แอล เป็นกลุ่มบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศไทย โดยกลุ่มบริษัทมีโรงงานน้ำตาลที่อยู่ภายใต้กลุ่มธุรกิจทั้งหมด 4 โรง โดยแบ่งสายการผลิตออกเป็น 3 ภาค ดังนี้

1. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แถบจังหวัดขอนแก่น มี 1 โรงงาน ได้แก่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน)

2. ภาคกลาง แถบจังหวัดกาญจนบุรี มี 2 โรงงาน ได้แก่ บริษัท โรงงานน้ำตาลนิวกรุงไทย จำกัด และ บริษัท น้ำตาลท่ามะกา จำกัด

3. ภาคตะวันออกมี 1 โรงงาน คือ บริษัท น้ำตาลนิวกว้างสุ้นหลี จำกัด

ผลิตภัณฑ์ที่ทางบริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยผลิต จะประกอบด้วยผลิตภัณฑ์หลักที่เป็นน้ำตาลทราย ซึ่งสามารถจำแนกประเภทได้ 4 ประเภท คือ น้ำตาลทรายดิบ (Raw Sugar), น้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูง (High Pol Sugar), น้ำตาลทรายขาว (White Sugar) และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar) และผลิตภัณฑ์เสริมที่เกี่ยวเนื่องที่ได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายอีก เช่น กากน้ำตาล (Molasses) กากอ้อย (Bagasses) และกากหม้อกรอง (Filter Cake) โดยบริษัทได้ขยายการลงทุนต่อยอดจากกระบวนการผลิตน้ำตาล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คือ

(1) โรงงานผลิตเอทานอล ซึ่งใช้ผสมกับน้ำมัน เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ใช้วัตถุดิบคือ กากน้ำตาล และน้ำอ้อย

(2) โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ ใช้วัตถุดิบที่เป็นน้ำเสียที่มาจากกระบวนการผลิตเอทานอล มาหมักให้ได้ก๊าซชีวภาพเป็นเชื้อเพลิงเสริมสำหรับโรงไฟฟ้า

(3) โรงงานผลิตปุ๋ยชีวภาพ ใช้วัตถุดิบที่เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาล (กากหม้อกรอง) และน้ำเสียที่มาจากกระบวนการผลิตก๊าชชีวภาพ และการผลิตเอทานอล

(4) โรงไฟฟ้า ใช้วัตถุดิบที่เป็นของเสียจากกระบวนการผลิตน้ำตาล (กากอ้อย) และก๊าซชีวภาพที่ได้จากโรงงานผลิตก๊าชชีวภาพ เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และพลังไอน้ำขายให้กับโรงงานในเครือและการไฟฟ้า

สำหรับภาพรวมของบริษัทต้องถือว่าเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงสูงครับ ธุรกิจส่วนใหญ่คือการผลิตน้ำตาลกว่า 90% ทีเหลือเป็นธุรกิจเสริมครับ ในส่วนของตัวเลขทางการเงินกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหุ้นที่ผมคำนวนได้ คือ 1.29 บาทต่อหุ้น ถือว่าดีครับ ROE สูงใช้ได้ครับ แต่ ROA ต่ำไปนิดแสดงให้เห็นถึงการคืนทุนในส่วนของสินทรัพย์ทำได้ดีในปีหลังๆ อาจต้องเทียบกับกิจการคู่แข่งว่าใครทำได้ดีกว่ากันครับ อัตราการทำกำไรเติบโตเป็นเลขสองหลักน่าสนใจทีเดียวครับ หนี้สินต่อทุนสูงไปนิด (อาจเป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจประเภทนี้) และเงินปันผลไม่ค่อยจะสม่ำเสมอครับ

ปัจจัยเสี่ยง

ความผันผวนของปริมาณอ้อยจะเกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการคือ (1) ปริมาณพื้นที่ในการเพาะปลูกอ้อย (จำนวนไร่) ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่เกษตรกรเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชไร่ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า รวมถึงเกิดจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ ผลผลิตอ้อยต่อพื้นที่เพาะปลูก (ตันอ้อยต่อไร่) ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ภัยแล้ง และน้ำท่วม อันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากปริมาณอ้อยลดลง ทำให้บริษัท มีปริมาณการผลิตที่ลดลง ต้นทุนต่อหน่วยโดยเฉพาะในส่วนของต้นทุนคงที่ต่อหน่วยสูงขึ้น กำไรต่อหน่วยลดลง และสุดท้ายส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลง ... แสดงว่าวัตถุดิบมีผลอย่างมากต่อการผลิตน้ำตาล และดูเหมือนจะไม่สามารถผลักภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้กับผู้บริโภคได้ครับ เนื่องจากน้ำตาลเป็นสินค้าควบคุมราคาโดยรัฐบาล

ความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลก ... ในการซื้อขายน้ำตาลในตลาดโลกนั้น น้ำตาลจัดได้ว่าเป็นสินค้าหนึ่งที่มีความผันผวนทางด้านราคาสูงเมื่อเทียบกับสินค้าเกษตรอื่น ๆ โดยราคาน้ำตาลตลาดโลกจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น อุปสงค์ อุปทานของประเทศผู้ผลิต ผู้บริโภค ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า รวมถึงการเก็งกำไรจากนักเก็งกำไร ซึ่งจะเกี่ยวพันกับสภาพภูมิอากาศในการเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกของแต่ละประเทศ นโยบายการส่งเสริม การแทรกแซง การส่งออก การนำเข้า ของอุตสาหกรรมน้ำตาลของภาครัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกทั้งปัจจุบันราคาน้ำตาลยังมีส่วนหนึ่งที่สัมพันธ์กับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย เนื่องจากอ้อยรวมถึงกากน้ำตาล สามารถนำไปผลิตเป็นแอลกอฮอล์หรือที่เรียกว่าเอทานอล สำหรับผสมกับน้ำมันเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ได้ ด้วยปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ราคาซื้อขายน้ำตาลในตลาดโลกค่อนข้างผันผวนสูง ... หากน้ำตาลในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นก็จะเป็นประโยชน์กับบริษัทครับ ดังนั้นเราควรติดตามราคาน้ำตาลให้ดีด้วยครับ อาจกำหนดจุดเข้าซื้อเมื่อราคาน้ำตาลตกต่ำก็ได้ครับ ... ความเสี่ยงอื่นๆ (เงินเกี๊ยวในวงการน้ำตาล ฯลฯ) ลองดาวน์โหลด 56-1 มาอ่านดูครับมีรายละเอียดครบถ้วนทีเดียว

ข้อสรุป ... ส่วนตัวผมคิดว่าเป็นหุ้นที่น่าซื้อครับ แต่ถ้าหวังเรื่องปันผลก็อาจจะไม่ได้รับเงินปันผลสม่ำเสมอซักเท่าไหร่ (ดูจากอดีตที่ผ่านมา) และผมได้ข่าวว่าตอนนี้วงการน้ำตาลโลกจะเน้นสั่งน้ำตาลจากประเทศอินเดีย เพราะราคาถูกกว่าครับ แต่ด้วยพื้นฐานของหุ้นที่ดูมั่นคงก็ยังน่าซื้อสะสมอยู่ดีครับ สูตรของผมคือทยอยซื้อเฉลี่ยราคาให้ถูกที่สุดครับ

เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล โปรดพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ


ขอบคุณสำหรับคำถามครับ

(นายแว่นธรรมดา)

แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับ..
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada

ผลงานลำดับที่ 3 ของนายแว่นธรรมดา "เปลี่ยนตัวเองใหม่ไม่ยาก"
http://thinkbeyondbook.com/node/670



ข้อคิดเห็นหุ้น TOG

TOG















TOG


บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เดิมใช้ชื่อว่าบริษัท ไทยโปลีเมอร์เลนส์ จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2534 เริ่มต้นทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท โดยกลุ่มตระกูลประจักษ์ธรรม เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อขยายสายงานการผลิตเลนส์สายตาพลาสติก จากเดิมที่กลุ่มตระกูลประจักษ์ธรรม มีธุรกิจผลิตเลนส์สายตากระจก ซึ่งดำเนินธุรกิจในนามบริษัท อุตสาหกรรมแว่นตาไทย จำกัด (TOC) มานานกว่า 47 ปี บริษัทฯ ทำการผลิตและจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ 15/5 หมู่ที่ 6 ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี บนเนื้อที่ประมาณ 26 ไร่ สำหรับ TOC ประกอบด้วยโรงงาน 2 แห่ง แห่งที่ 1 ตั้งอยู่ ถนนงามวงศ์วาน เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ เพื่อผลิตแม่แบบแก้วและเลนส์สายตากระจก อีกแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ 13 ไร่ เพื่อผลิตเลนส์สายตาพลาสติกและเลนส์สั่งฝนพิเศษบริษัท และบริษัทย่อยจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ค้าส่งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยผลิตตามคำสั่งซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า (“OEM” หรือOriginal Equipment Manufacturer)และจำหน่ายภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทฯ เอง คือ “Excelite™”

ผลิตเลนส์พลาสติกธรรมดาในสัดส่วนกว่า 50% นอกนั้นเป็นเลนส์สั่งทำพิเศษ และเลนส์กระจกที่มีราคาสูงกว่าเลนส์ทั่วไปครับ
ดูงบการเงินคร่าวๆ ก็ค่อนข้างใช้ได้นะครับ แต่ ROE กับ ROA ต่ำไปหน่อยครับ และอัตราการทำกำไรก็ไม่มากเท่าไหร่ กำไรต่อหุ้นน้อย แต่ปันผลดีมากครับ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหุ้น 0.34 บาทต่อหุ้น หนี้สินต่ำ เข้าใจว่าเทคโนโลยีการผลิตเลนส์คงไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก ทำให้ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มมากจึงไม่ต้องกู้เงินมาลงทุน (ลองเช็คข้อมูลดูนะครับ)

ปัจจัยความเสี่ยง ก็คือแว่นตาที่อาจถูกทดแทนด้วยคอนเท็คเลนส์ และการผ่าตัดสายตาให้ปกติ ซึ่งไม่ต้องใช้แว่นตาอีกต่อไป โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมการผลิตเลนส์สายตาในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก ซึ่งนอกเหนือจากการแข่งขันกับผู้ผลิตในประเทศแล้ว ยังต้องแข่งขันกับผู้ผลิตอื่นๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเลนส์สายตาธรรมดาที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน จากประเทศจีนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำเริ่มที่จะเข้ามาแข่งขันในตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรง

ความเสี่ยงในด้านราคา และการจัดหาวัตถุดิบ บริษัท และบริษัทย่อย ทำการซื้อวัตถุดิบหลักจากผู้ผลิต กระจก Monomer พลาสติก และเคมีภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในการผลิตจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายในต่างประเทศในแต่ละประเภทวัตถุดิบเพียงไม่กี่ราย โดยเฉพาะในส่วนของ Monomer พลาสติก ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของต้นทุนวัตถุดิบ และเป็นประมาณร้อยละ 40 ของต้นทุนการผลิตรวมของบริษัทและบริษัทย่อยนั้น Monomer พลาสติกที่ใช้ในการผลิตเลนส์พลาสติกในแต่ละประเภท จะเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของผู้ผลิตรายนั้นๆ ดังนั้น Monomer พลาสติกสำหรับเลนส์แต่ละประเภทจะต้องซื้อจากผู้ผลิต Monomer พลาสติกผู้มีลิขสิทธิ์ดังกล่าวเพียงรายเดียว ส่งผลให้บริษัทและบริษัทย่อยมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาผู้ผลิตวัตถุดิบ

ข้อสรุป ... ผมคิดว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจในระดับหนึ่งครับ ถ้าจะซื้อสะสมไว้กินเงินปันผลก็ไม่เลวครับ แต่คงไม่ได้หวังว่าจะเติบโตหวือหวา นอกจากบริษัทจะมีการเปลี่ยนแปลงการผลิตนวตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการดูแลรักษาสายตา หรืออุปกรณ์ที่ใช้กับสายตาครับ แต่ตลาดสายตาสำหรับผู้สูงอายุก็ดูน่าสนใจเพราะในอนาคตผู้สูงอายุจะมากขึ้นเรื่อยๆ ครับผม

เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัว ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ

ขอบคุณสำหรับคำถามครับ

(นายแว่นธรรมดา)

แวะทักทายนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับผม..
http://www.facebook.com/NaiwaenTammada

หุ้นเติบโต (ตอนจบ)
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=greenpluss&month=02-2012&date=10&group=41&gblog=38

หนังสือ "50 กลยุทธ์รวยหุ้น ไม่เสี่ยง" และ "รวยหุ้นแบบ VI ไม่เสี่ยง" หนังสือสำหรับมือใหม่หัดเล่นหุ้น.. โดยนายแว่นธรรมดา..


วางแผงแล้วในร้าน ซีเอ็ด นายอินทร์ และ บีทูเอส ทุกสาขา ขอบคุณที่อุดหนุนนะครับ




Thursday, February 9, 2012

ส่งการบ้านข้อคิดเห็นหุ้น Bafs

Bafs



Bafs

ภาพรวมการประกอบธุรกิจของบริษัท บริษัทย่อย และบริษัทร่วม

บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 509.998 ล้านบาท และเรียกชำระแล้ว 509.997 ล้านบาท โดยบริษัทก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2526 ด้วยทุนจดทะเบียน 80 ล้านบาท โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการตามความเห็นและมติสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในการจัดตั้งโครงการเติมน้ำมันอากาศยาน ปัจจุบัน บริษัทเป็นบริษัทเดียวที่ได้รับสิทธิจากรัฐบาลไทยในการดำเนินธุรกิจจัดเก็บ และให้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิงแก่อากาศยานทุกประเภทและทุกเที่ยวบิน ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยบริษัทให้บริการเชื้อเพลิงการบินอย่างครบวงจรทั้ง 3 ระบบ คือ ระบบคลังน้ำมันอากาศยานระบบส่งน้ำมันอากาศยานผ่านท่อฯ และระบบเติมน้ำมันอากาศยาน โดยมีลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างเติมน้ำมัน คือ บริษัทผู้ค้าน้ำมันต่างๆ ที่ขายน้ำมันอากาศยานให้แก่สายการบิน โดยบริษัทมีการให้บริการเติมน้ำมันอากาศยาน 2 ประเภท คือ  น้ำมันอากาศยานสำหรับเครื่องบินไอพ่น (JET A-1) และน้ำมันอากาศยานสำหรับเครื่องบินลูกสูบ


รายได้ส่วนใหญ่มาจากการบริการกว่า 90% นอกนั้นเป็นรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินของบริษัทครับ


สำหรับสัดส่วนตัวเลขทางการเงินผ่านทุกตัว และค่อนข้างจะสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเงินปันผลค่อนข้างสม่ำเสมอในช่วงปีหลังๆ อัตราการทำกำไรก็สูงมากครับ มีรายได้ต่อทุนลดลงหน่อยแต่ก็ไม่มากจนน่ากังวล ผมลองคำนวนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่อหุ้นอยู่ประมาณ 1.44 บาทต่อหุ้น ถือว่าดีครับ

สำหรับปัจจัยความเสี่ยงมีดังต่อไปนี้ครับ

  1. แหล่งรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมาจากธุรกิจให้บริการน้ำมันอากาศยาน  ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง สมุย และ สุโขทัย  ดังนั้น การเติบโตของรายได้ขึ้นอยู่กับปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานให้แก่เที่ยวบินที่มาใช้บริการที่ท่าอากาศยานดังกล่าว ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยตรง  บริษัทจึงมีความเสี่ยงในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงต่างๆ ที่มีผลกระทบทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกิดภาวะชะลอตัว
  2. บมจ.ท่าอากาศยานไทยมีการดำเนินกิจกรรมทางการตลาดหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมให้สายการบินต่างๆ มาใช้บริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งมีแผนที่จะเร่งดำเนินการโครงการขยายขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของจำนวนเที่ยวบินในอนาคต บริษัทจึงมีความเสี่ยงในกรณีที่อุปกรณ์ระบบให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานอาจไม่สามารถรองรับการเจริญเติบโตของจำนวนเที่ยวบิน
  3. ความเสี่ยงจากการเกิดเพลิงไหม้ การดำเนินธุรกิจของบริษัทต้องมีการสำรองน้ำมันอากาศยานไว้ในถังเก็บน้ำมันอากาศยานที่คลังน้ำมันซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้ท่าอากาศยานดอนเมือง และ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอัคคีภัย  หรือ    ภัยอันตรายอื่นๆ เช่น การก่อการร้าย เป็นต้น อันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อบุคคล ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม และ อาจทำให้การดำเนินงานของบริษัทหยุดชะงักได้

แต่เท่าที่ผมประเมินความเสี่ยงต่างๆ สำหรับผมถือว่ารับได้ครับ ถ้าซื้อตอนนี้เป็นช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นก็จะได้ของแพงหน่อย แต่ก็ดูคุ้มค่าครับ สำหรับผมก็คงทยอยซื้อสะสมเช่นเคยครับ

เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนครับผม

ขอบคุณสำหรับคำถามครับ

(นายแว่นธรรมดา)

แวะพูดคุยกับนายแว่นธรรมดาได้ที่นี่ครับ..

หนังสือ "50 กลยุทธ์รวยหุ้น ไม่เสี่ยง" หนังสือสำหรับมือใหม่หัดเล่นหุ้น.. โดยนายแว่นธรรมดา..


วางแผงแล้วในร้าน ซีเอ็ด นายอินทร์ และ บีทูเอส ทุกสาขา ขอบคุณที่อุดหนุนนะครับ.



Mini MP4 Click here !!!

Garden Plus